ชีวประวัติท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน กำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480  ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไถจง ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของไต้หวัน  บิดามารดายกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอาตั้งแต่เด็ก จึงนับถืออาเสมือนเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง

ด้วยบุคลิกลักษณะที่เปี่ยมด้วยความเฉลียวฉลาดและบทบาทหน้าที่ของพี่สาวคนโต ท่านจึงสามารถช่วยแบ่งเบาภาระในการทำงานให้กับบิดาและช่วยดูแลบ้านแทนมารดาได้ ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี

บุญสัมพันธ์กับพุทธศาสนา

ท่านธรรมาจารย์เป็นลูกที่กตัญญู มีความอ่อนโยนและจิตเมตตา เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี มารดาของท่านล้มป่วยลงด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน  จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร่งด่วน ในยุคสมัยนั้นการผ่าตัดมีความเสี่ยงสูงมาก ด้วยความห่วงใยมารดา  ท่านธรรมาจารย์จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อ “พระโพธิสัตว์กวนอิม” ขอรับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดชีวิต และยินดีลดอายุของตนเองลง 12  ปี แลกกับการเพิ่มอายุขัยให้มารดา สวรรค์เบื้องบนคงรับรู้ได้ถึงความกตัญญูกตเวทีนี้  ส่งผลให้อาการป่วยของมารดาทุเลาลงโดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ด้วยมูลเหตุดังกล่าว ท่านธรรมาจารย์จึงเริ่มรับประทานอาหารมังสวิรัตินับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2503 บิดาของท่านธรรมาจารย์ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 51 ปี เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ท่านธรรมาจารย์รู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว “คนเราเกิดมาจากไหน เมื่อตายลงแล้วจะไปที่ใด” ท่านจึงเริ่มศึกษาหาความหมายของชีวิต และมักจะไปสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ซิวต้าวที่วัดฉืออวิ๋นอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงเวลานั้นเอง ท่านธรรมาจารย์จึงได้ตระหนักว่า แม่บ้านซึ่งทำหน้าที่ถือตะกร้าไปจ่ายตลาดและดูแลทรัพย์สินของครอบครัว คือ ผู้ที่มีความสุขที่สุด “ผู้หญิงไม่ควรเพียงแต่เสียสละเพื่อครอบครัวของตนเองเท่านั้น แต่ควรจะแบกรับภาระหน้าที่เพื่อสังคมเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย ต้องนำความรักความเมตตานี้ กระจายไปให้ทั่วทุกมุมในสังคม เพื่อให้ทุกคนรักเพื่อนร่วมโลก รักสรรพชีวิต เฉกเช่นเดียวกับรักครอบครัวของตนเอง นี่จึงจะเรียกว่า ความสุขที่แท้จริง”

ด้วยความพยายามที่จะออกบวช ท่านธรรมาจารย์จึงออกจากบ้านหลายครั้งหลายครา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังหาสถานที่ปฏิบัติธรรมอันเหมาะสมไม่ได้ จนสุดท้ายจึงมาพบวัดผู่หมิง ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในตำบลซิ่วหลิน เมืองฮวาเหลียน ท่านจึงตัดสินใจพำนักอยู่ ณ วัดผู่หมิงแห่งนี้ แม้ความเป็นอยู่จะยากลำบาก แต่กลับไม่เคยทำให้ความแน่วแน่ของท่านธรรมาจารย์ที่จะศึกษาพระธรรมลดน้อยลง

 ในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ.2505 เมื่ออายุ 25 ปี ท่านธรรมาจารย์จึงปลงผมเพื่อออกบวชเอง โดยไม่มีพระอุปัชฌาย์ และเริ่มทำวัตรปฏิบัติตามกิจของภิกษุณีสงฆ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนได้เดินทางไปยังวัดหลินจี้ เมืองไทเป เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมพิธีสมาทานศีล จนพบกับพระอุปัชฌาย์มหาเถระอิ้นซุ่น และได้รับการอุปสมบทอย่างเป็นทางการ โดยพระอุปัชฌาย์ให้คำกำชับว่า “บุญสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และศิษย์นั้นพิเศษยิ่ง เมื่ออุปสมบทแล้ว ขอจงทำเพื่อพุทธศาสนา ทำเพื่อมวลชีวันทุกเวลา”  มหาเถระอิ้นซุ่นยังได้ตั้งฉายาให้ว่า “เจิ้งเอี๋ยน”  นาม “ฮุ่ยจาง” หลังจากพิธีปวารณาตัวเป็นศิษย์อย่างเรียบง่ายเสร็จสิ้นลง ท่านจึงรีบเดินทางไปเข้าร่วมพิธีสมาทานศีล ณ วัดหลินจี้ทันที

หลังจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนกลับมายังเมืองฮวาเหลียน จึงเริ่มปฏิบัติธรรม ณ บ้านไม้หลังเล็กบริเวณหลังวัดผู่หมิง ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางฟุต โดยศึกษาและค้นหาความหมายที่แท้จริงของคัมภีร์ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” เนื่องจากท่านไม่รับบิณฑบาต จึงมีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างยากลำบาก

เดือนตุลาคม พ.ศ.2506 ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนได้ไปแสดงธรรม “กษิติครรภโพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร” ณ วัดฉือส้าน เมืองฮวาเหลียน เป็นระยะเวลารวมแปดเดือน ภิกษุณี ณ สมณารามจิ้งซือในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกศิษย์อาวุโสของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ส่วนใหญ่ล้วนมาจากพุทธธรรมสัมพันธ์ในครั้งนั้น โดยท่านธรรมาจารย์นำเหล่าลูกศิษย์จำนวนหนึ่งกลับมาศึกษาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณหลังวัดผู่หมิง

ท่านธรรมาจารย์ปฏิบัติตามกิจของภิกษุณีสงฆ์อย่างเคร่งครัดและพึ่งพาตนเอง โดยไม่รับบิณฑบาตมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างในสมณารามจิ้งซือ ล้วนอาศัยรายได้จากการทำเทียนไข ถั่วป่นและค่าลิขสิทธิ์สื่อสิ่งพิมพ์ โดยไม่เคยนำเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้แก่มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันมาใช้จ่ายในส่วนนี้

พ.ศ.2509 ท่านมหาเถระอิ้นซุ่นได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ณ มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมไทเป และต้องจากเมี่ยวอวิ๋นอรัญญิกาวาสไป ก่อนไปมหาเถระอิ้นซุ่น หวังให้ท่านธรรมาจารย์นำเหล่าลูกศิษย์ไปพำนัก ณ เมี่ยวอวิ๋นอรัญญิกาวาสและดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสถานธรรมแห่งนี้แทน ทว่าเนื่องจากท่านธรรมาจารย์พำนักอยู่ในเมืองฮวาเหลียนมาเป็นระยะเวลานาน ลูกศิษย์สูงอายุสองท่านที่ร่วมปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและแม่บ้านอีก 30 ท่าน ต่างก็ไม่ต้องการให้ท่านธรรมาจารย์จากไป จึงร่วมลงนามขอความเมตตาไปยังท่านมหาเถระอิ้นซุ่น

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ทว่าด้วยการนำพาของบุญวาสนา สุดท้ายจึงตัดสินใจพำนักอยู่ที่เมืองฮวาเหลียนต่อไป และเริ่มลงมือก่อร่างสร้างภารกิจฉือจี้ขึ้นในที่สุด

 

จุดเริ่มต้น “มูลนิธิฉือจี้”

พ.ศ.2509 จากกองเลือดหนึ่งกองบนพื้น ทำให้ท่านธรรมาจารย์มีดำริที่จะก่อตั้งองค์กรการกุศลขึ้น ด้วยปณิธานต้องการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ประจวบกับวันหนึ่งมีแม่ชีคาทอลิกจากโรงเรียนมัธยมไห่ซิงสามท่าน ได้เดินทางมาพบท่านธรรมาจารย์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึง ศาสดา เป้าหมายและหลักธรรมคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือ ก่อนที่แม่ชีทั้งสามจะเดินทางกลับ จึงได้กล่าวขึ้นว่า “ในที่สุดวันนี้ก็ได้เข้าใจแล้วว่า ความเมตตาของพระพุทธองค์นั้น ครอบคลุมไปถึงทุกสรรพชีวิตบนโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ทว่าความรักของพระเจ้า แม้จะจำกัดอยู่แค่หมู่มวลมนุษยชาติ แต่พวกเราได้สร้างโบสถ์ สร้างโรงพยาบาลรวมถึงดูแลสถานสงเคราะห์คนชรา ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมนานัปการ แล้วพุทธศาสนาเล่า ได้อุทิศสิ่งใดเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง”

ท่านธรรมาจารย์ฟังแล้วรู้สึกอึดอัดใจ ไม่รู้จะตอบประการใด นั่นเพราะพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ มักจะปิดทองหลังพระ ต่างคนต่างทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็ไม่ต้องการออกนาม เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีใครรวบรวมความรักอันยิ่งใหญ่นี้ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนจึงตัดสินใจทุ่มเทแรงกายแรงใจ จัดตั้งองค์กรการกุศลขึ้น โดยเริ่มต้นจากการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2509 (วันที่ 24 เดือน3 ปีพ.ศ.2509 ตามปฏิทินจันทรคติ) “มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

ถักทอต้นแบบมูลนิธิพุทธฉือจี้

พ.ศ.2510 ในวันครบรอบสองปีการก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ หลังจากการประชุมธรรมพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าเสร็จสิ้นลง ท่านธรรมาจารย์นำเหล่าลูกศิษย์มาถ่ายภาพร่วมกันบริเวณหน้าวัดผู่หมิง

ภารกิจการกุศลของฉือจี้ มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตรองเท้าเด็กเพิ่มขึ้นวันละหนึ่งคู่โดยภิกษุณีจำนวนหกรูป ท่านธรรมาจารย์ยังได้นำไม้ไผ่บริเวณหลังบ้าน เลื่อยออกเป็นกระปุกออมบุญ 30 กระบอก เพื่อมอบให้แก่อุบาสิกาผู้ศรัทธาครอบครัวละหนึ่งกระบอก โดยรณรงค์ให้ออมเงินวันละประมาณ 50 สตางค์

เหล่าลูกศิษย์ต่างรู้สึกประหลาดใจ ว่าทำไมไม่ออมครั้งเดียว เพียงเดือนละประมาณ 15 บาท ท่านธรรมาจารย์จึงกล่าวว่า “เมื่อถือตะกร้าไปจ่ายตลาด อาจารย์อยากให้ทุกคนนำเงิน 50 สตางค์หยอดลงในกระปุกออมบุญนี้ ก่อนก้าวเท้าออกจากบ้านทุกครั้ง ก็จะได้จุดประกายเมตตาจิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น อดออมวันละ 50 สตางค์ เพื่อฟูมฟักจิตใจที่รู้จักมัธยัสถ์และการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น”

 

ดังนั้นทุกวัน เมื่อแม่บ้านทั้งสามสิบคนถือตะกร้าออกไปจ่ายกับข้าวที่ท้องตลาด หากพบเจอผู้คน ก็จะเผยแพร่ข่าวสารออกไปว่า “พวกเราต่างช่วยกันออมเงินวันละ 50 สตางค์ เพราะพวกเรามีมูลนิธิที่สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก พวกเราจะช่วยพวกเขาเหล่านั้น” ไม่นานข่าวสารที่ว่า “เงิน 50 สตางค์ก็ช่วยเหลือผู้อื่นได้” ก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว นับวันก็ยิ่งมีผู้ตอบรับแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้น จนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือผู้อื่น ดุจดังพระเมตตาของพระโพธิสัตว์กวนอิมพันเนตรพันกร

หลังจากก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ขึ้นได้สองเดือน จึงเริ่มให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือคุณยายชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ ที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในไต้หวัน โดยดูแลเรื่องอาหารการกินและสภาพความเป็นอยู่ จนกระทั่งจัดพิธีฌาปณกิจให้เมื่อท่านเสียชีวิตลง เริ่มต้นโครงการอันยิ่งใหญ่ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ

ในตอนนี้เอง มีผู้ศรัทธาจำนวนมากต้องการปวารณาตัวเป็นศิษย์ของท่านธรรมาจารย์ ดังนั้นเพื่อระดมใจรักให้กับมูลนิธิฉือจี้ ท่านธรรมาจารย์จึงกำหนดเงื่อนไขพื้นฐานดังนี้คือ หนึ่งผู้ที่ต้องการปวารณาตัวเป็นศิษย์ต้องเป็นสมาชิกผู้บริจาคของ “มูลนิธิพุทธฉือจี้” สองต้องร่วมทำงานสงเคราะห์ช่วยเหลือสังคมกับ “มูลนิธิพุทธฉือจี้”

ช่วงแรกของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ท่านธรรมาจารย์และลูกศิษย์ต่างใช้พื้นที่เล็กๆ เพียง 66 ตารางเมตรในการดำเนินงาน โดยด้านหนึ่งใช้สำหรับประดิษฐ์งานฝีมือเพื่อจำหน่ายมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต อีกด้านหนึ่งใช้เป็นสถานที่ดำเนินกิจการของมูลนิธิ ต่อมาด้วยความช่วยเหลือจากมารดาของท่านธรรมาจารย์ จึงได้ย้ายมาที่สมณารามจิ้งซือในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2512 โดยภิกษุณีและลูกศิษย์ทุกคนยังคงดำเนินชีวิตประจำวันบนหลักการพึ่งพาตนเองตามเดิม “สมณารามจิ้งซือ” อันเรียบง่าย สงบและสง่า เป็น บ้านเกิดทางจิตวิญญาณของชาวฉือจี้ทั่วโลกและจะเป็นฐานรากการดำเนินงานฉือจี้ตราบนานเท่านาน

เมื่อหนึ่งตาเห็น พันตาเห็นตาม เมื่อหนึ่งมือยื่นออกไป พันมือยื่นออกตาม

แนวคิดของฉือจี้ คือ ใจที่มี “ความเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา” ทำงานช่วยเหลือผู้ซึ่งตกทุกข์ได้ยากและบรรเทาทุกข์สร้างสุข จิตวิญญานของฉือจี้คือ “ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง สัจจะ สมถะ” เพิ่มพูนสติปัญญาด้วยการคลี่คลายปัญหาจากเรื่องราวต่างๆ เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศ มาร่วมรังสรรค์สร้างนาบุญ พัฒนาสังคมแห่งที่เปี่ยมด้วยความรักอันยิ่งใหญ่

“อาจารย์เชื่อตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธาตุเดิมของมนุษย์นั้นดีงาม และทุกสรรพชีวิตนั้นเท่าเทียมกัน พระพุทธองค์มีความเมตตามากเพียงใด สรรพชีวิตก็มีความเมตตามากเท่านั้น พระพุทธองค์มีพุทธปัญญามากเพียงใด สรรพชีวิตก็สามารถมีพุทธปัญญาเฉกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต้องได้รับการชี้แนะ เพื่อให้เห็นถึงจิตอันเป็นกุศล และความสุขอันแท้จริง ปุถุชนมักคิดว่า การมีเงินคือการมีความสุข เพราะคนที่ขัดสนเงินทอง ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วย น้อยคนนักที่จะตระหนักว่า ควรจะทำให้คนที่มั่งมีเข้าใจว่า การทำบุญด้วยการให้นั้น มีความสุขยิ่งกว่าการรับ กายที่เจ็บป่วย ไม่น่ากลัวเท่ากับใจที่ล้มป่วย ร่างกายของคนเราก็เหมือนต้นกล้วย หากตัดลอกออกทีละชั้นๆ สุดท้ายก็จะเหลือเพียงความว่างเปล่า มีเพียงความเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขาเท่านั้น ที่จะดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน และจะทำให้โลกของเรางดงามที่สุด” ท่านธรรมาจารย์ยังกล่าวอีกว่า “พุทธศาสนาคือทฤษฎี  ฉือจี้คือเรื่องราวของการลงมือทำ อาศัยเรื่องราวเหล่านี้ แสดงให้เห็นประจักษ์ถึงทฤษฎี ใช้เรื่องราวเป็นต้นเรื่อง จบลงที่ทฤษฎี”

ดังนั้นภารกิจของฉือจี้ จากการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา ด้านจริยธรรม จนถึงการบรรเทาภัยสากล การบริจาคไขกระดูก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอาสาสมัครชุมชน คือ “หนึ่งย่างก้าวแปดรอยธรรม” ชาวฉือจี้ร่วมกันใช้สติปัญญา ใช้ใจรักประคับประคอง เพื่อสดับฟังและบรรเทาทุกข์สร้างสุขอย่างทันท่วงที แสดงศักยภาพดุจดังพระโพธิสัตว์พันเนตรพันกร “เมื่อหนึ่งตาเห็น พันตาเห็นตาม เมื่อหนึ่งมือยื่นออกไป พันมือยื่นออกตาม” ส่งผลให้การทำงานของฉือจี้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกครอบครัวมีความสุขสงบ ทุกสังคมเปี่ยมด้วยความอบอุ่น